ขับรถเที่ยวอ่างทอง ชมหมู่บ้านทำกลอง…ตะลึงตึงตึง

เส้นทางขับรถขึ้นภาคเหนือส่วนใหญ่เราจะใช้ทางหลวงหมายเลข 32 จนชิน แต่วันนี้ ISUZU MU-X คู่ใจจะพาไปทางเลี่ยงรถติด เที่ยวใกล้ๆ ขับไปชั่วโมงครึ่งก็ถึงอ่างทอง หมุนพวงมาลัยออกทางหลวงหมายเลข 347 กันเลยค่ะ

อ่างทอง

จุดแรกแวะจอดรถที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ก่อนถึงสี่แยกทุ่งมะขามหย่อง ชื่อคุ้นๆ เหมือนเคยเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ไหมคะ บริเวณนี้คือสมรภูมิรบระหว่างไทยกับพม่าหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรจนต้องพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

อ่างทอง

อ่างทอง

อ่างทอง

เด็กๆ กราบสักการะพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัยแล้วก็ยืนพิจารณาอย่างตั้งใจ เอ… ทำไมช้างหันหลังให้ทางเข้าแต่หันหน้าออกไปยังสระน้ำ พี่ทหารเดินผ่านมาพอดีช่วยอธิบายว่า ทหารไทยเดินทัพมาจากอยุธยา กองทัพพม่าอยู่ข้างหน้าโน่นจึงต้องสร้างพระราชานุสาวรีย์หันหน้าไปทางข้าศึก สระน้ำขนาดใหญ่ที่เห็นนี้เป็นอ่างเก็บน้ำแก้มลิงตามโครงการในพระราชดำริ และไหนๆ ก็มีอ่างน้ำแล้ว ตอนสร้างเขาเลยจำลองค่ายพม่ากดให้จมอยู่ในน้ำเอาไว้ถือเป็นการเอาเคล็ดเสียเลย พี่ทหารยังบอกอีกว่าสังเกตดีๆ นะ คนที่อยู่บนเก้าอี้หลังช้างไม่ใช่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยแต่เป็นนายทหารสัญญาณ และทำหน้าที่ส่งพระแสงง้าวให้พระองค์ซึ่งประทับอยู่ที่คอช้างต่างหาก ส่วนเท้าช้างทั้งสี่จะต้องมีนักรบจาตุลังคบาทคอยคุ้มกันไม่ให้ทหารพม่ามาฟันขาช้าง คนหนึ่งหน้าเหมือนพลเอกวิมล วงศ์วานิช ส่วนอีกคนเหมือนพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เอ้าไม่เชื่อไปดูใหม่อีกรอบ

อ่างทอง

อ่างทอง

อ่างทอง

ให้อาหารปลาดุกในอ่างเก็บน้ำเสร็จก็ขึ้นรถเดินทางต่อ ถึงแยกทุ่งมะขามหย่องแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 309 ประมาณ 20 นาทีก็ถึงวัดท่าสุทธาวาส ตำบลบางเสด็จ ด้านหลังของวัดเป็นศูนย์ตุ๊กตาชาววัง มีคุณยายคุณป้านั่งปั้นหุ่นดินเหนียวตัวจิ๋วๆ อยู่ชั้นล่างของศาลาเรือนไทย โครงการนี้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้คนในชุมชน คุณยายทองเลี่ยมบอกเราด้วยความภูมิใจว่ายายเป็นนักเรียนรุ่นแรกเลยนะ ตอนนี้อายุ 77 ปีแล้วก็ยังปั้นตุ๊กตากับผลไม้ได้อยู่ ว่าแล้วคุณยายก็ปั้นมะละกอกับส้มให้คนละลูก ถึงแม้สายตาคุณยายจะไม่ดีเหมือนเก่าแต่อาศัยคุ้นมือ นวดดินเป็นเส้นแขนแปะลงบนตัวเอาส่วนหัวปักตามเป็นอันเรียบร้อย รออบให้ดินแห้งก็ลงสีได้เลย

ที่เรียกกันว่าตุ๊กตาชาววังเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มข้าหลวงชาววังประดิษฐ์เป็นของเล่นให้เด็กๆ ลูกหลานข้าราชบริพารที่อาศัยในรั้ววัง ภายหลังข้าหลวงที่ออกมาอยู่กับครอบครัวแล้วก็ริเริ่มทำขายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ลักษณะของตุ๊กตาสะท้อนวัฒนธรรมไทยอย่าง การละเล่นเด็กไทย วงดนตรีมโหรีปี่พาทย์ หรือแม่ค้าผลไม้พายเรือก็ได้รับความนิยมมาก เป็นของฝากราคาเริ่มต้นที่ 10 – 40 บาทเท่านั้น

อ่างทอง

อ่างทอง

อ่างทอง

แวะเติมพลังมื้อกลางวันด้วยร้านอาหารยอดนิยมในละแวกนั้นคือร้านปิ่นโต ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ ตัวร้านเปิดรับลมธรรมชาติ ตกแต่งประดับข้างฝาด้วยเถาปิ่นโตและภาชนะเคลือบสมัยคุณยาย มีต้มโคล้งปลาสลิด กุ้งกระเบื้อง ปลาเค้าทอดน้ำปลาและปลาแม่น้ำอีกหลายชนิดเป็นเมนูแนะนำ พุงกางกันแล้วก็ย้อนลงมายังหมู่บ้านทำกลองในตำบลเอกราช หาไม่ยากมีป้ายชัดเจนอยู่ทางเข้า

อ่างทอง

อ่างทอง

หมู่บ้านนี้มีอยู่ราว 20 กว่าครัวเรือนที่ประกอบอาชีพทำกลอง หาจุดจอดรถเหมาะๆ แล้วลงไปเดินดูขั้นตอนการทำกลองกันถึงในบ้านได้ทุกวันไม่มีวันหยุด แค่ส่งเสียงนำไปว่าขออนุญาตดูการทำกลองหน่อยนะคะ เราก็จะได้ยินเสียงเชิญชวนอย่างเต็มใจตอบกลับเหมือนกันทุกหลัง “เข้ามาเลยค่ะ เข้ามาเลย” บางบ้านก็กลึงไม้ขึ้นรูปกลองแล้วส่งไปอีกบ้านให้ทำงานคว้าน ส่วนบางบ้านก็รับขึงหนังหน้ากลอง ติดหมุด และลงสีเคลือบเงา มีกลองมากมายหลายชนิดวางจำหน่ายอยู่หน้าบ้านแต่ละหลัง ทั้งกลองใหญ่อย่างกลองเพล กลองยาว กลองตะโพน จนไปถึงงานสั่งทำจากต่างประเทศเช่น กลองแอฟริกันดีเจมเบ้ซึ่งขึงด้วยหนังแพะแทนที่จะเป็นหนังวัวหนังควายเหมือนกลองไทย แม้แต่กลองไทโกะของญี่ปุ่นก็ยังส่งมาผลิตที่นี่ต่อเนื่องกว่า 12 ปีแล้ว สนนราคากลองเริ่มตั้งแต่ร้อยกว่าบาทไปจนถึงใบละ 4-5 หมื่น

อ่างทอง

อ่างทอง

อ่างทอง

หลังจากยืนดูคุณลุงเลือกไม้มะม่วงท่อนกลมโตมาไสและกลึงจนกลายเป็นกลองตะโพนไป 3 ใบแล้ว เราเดินต่อไปยังบ้านที่กำลังถักเชือกรอบหนังหน้ากลอง กลองใบใหญ่เพิ่งขึงด้วยหนังควายเมื่อเช้านี้และต้องคอยตีทดสอบทุกวันสลับกับการขันน็อตให้หนังตึงขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เสียงที่กังวานไพเราะ กระบวนการนี้ใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์ นั่นหมายถึงว่าถ้ามาเที่ยวหมู่บ้านทำกลองตอนเช้าๆ แทนที่จะได้ยินไก่ขันเหมือนหมู่บ้านอื่น เราจะได้ยินแต่เสียงตะลึงตึ่งตึ่งทดสอบกลองดังทั่วทั้งหมู่บ้าน

อ่างทอง

อ่างทอง

บ้านของผู้ใหญ่ชิต เนียมพันธ์เป็นบ้านเดียวที่รับทำกลองไทโกะของญี่ปุ่น เรามีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่ก็เลยทราบว่า ทางญี่ปุ่นจะส่งคนเดินทางมาตรวจสอบทุกขั้นตอน ไม้ที่นำมาทำกลองไทโกะต้องสมบูรณ์ทุกชิ้น มีรอยหรือใช้การโป้วอุดแต่งสีไม่ได้เลย เมื่อกลึงและคว้านกลองเรียบร้อยดีแล้วก็จะตรวจรับประทับตราของเขาไว้ภายในตัวกลองก่อนจะขึงหนังปิด ถักเชือกและติดหูจับซึ่งส่งมาจากญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นคุณภาพที่คนญี่ปุ่นเองยังเชื่อฝีมือส่งมาให้คนไทยผลิต ก่อนกลับเราเหลือบไปเห็นกลองขนาดใหญ่เส้นรอบวงราว 3 คนโอบ ผู้ใหญ่บอกว่านี่ล่ะปัญหา ได้มาแต่ไม้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้หนังผืนใหญ่มาขึงหน้ากลองเสียที

รอฟังเสียงกลองยักษ์จากบ้านผู้ใหญ่ชิตไปก่อน ทำเสร็จวันไหนคงได้ยินเสียงกลองจากอ่างทองดังมาถึงกรุงเทพ

ที่ตั้ง

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อยุธยา
พิกัด N14.384005 E100.526292

ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง
วัดท่าสุทธาวาส ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก อ่างทอง
พิกัด N14.450138 E100.461372
โทร 0-3586-8317, 06-1494-0538

หมู่บ้านทำกลองเอกราช
ต.เอกราช อ.ป่าโมก อ่างทอง
พิกั N14.497830 E100.432512
โทร 0-3-552-0542