บางสะพานมีทั้งความเสี่ยงและความสนุก ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจไปดำน้ำ

บางสะพานมีทั้งความเสี่ยงและความสนุก ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจไปดำน้ำ เป็นคำเตือนคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะวางแผนหอบลูกเที่ยวอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ความเสี่ยงแรก เกิดจากความตั้งใจออกเรือไปดำน้ำดูปะการัง ถ้าเช้านั้นฝนตก ก็ต้องงดออกเรือไปโดยปริยาย (เอ๊ะ…ทัวร์ดำน้ำที่ไหนๆ ก็เป็นแบบนี้เหมือนกันชิมิ)
ความเสี่ยงที่สอง เกิดจากการไปหาประสบการณ์เสี่ยงโชคร่อนทอง ถ้าโชคดีอาจได้ทองกลับบ้าน หรืออาจกางเกงแฉะโดยไม่ได้อะไรติดมือกลับไปเลย (ฮึ๊ย…เมืองไทยยุคนี้มีที่ให้ร่อนทองด้วยเหรอ)

ศึกษาข้อมูลก่อน

อ.บางสะพานอยู่ห่างจากตัวเมืองหัวหินลงมาทางใต้อีกประมาณ 160 กิโลเมตร คือถ้าขับจากตลาดนัดซิคาด้ามาก็ประมาณ 2 ชั่วโมงได้ จุดท่องเที่ยวแจ่มๆ จะอยู่บริเวณชายหาดบ้านกรูด ซึ่งเป็นชายหาดยาวต่อเนื่องเกือบ 18 กิโลเมตร ไล่ลงไปเป็นอ่าวบ่อทองหลาง, หาดสวนหลวง และ แหลมสน ส่วนกิจกรรมที่แจ๋วๆ นอกจากจะเล่นน้ำทะเลแล้ว ยังมีทัวร์ไปดำน้ำตามเกาะ และเรียนรู้การร่อนทองตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

ตัดสินใจออกเดินทาง

วันที่ 1 : อุทยานราชภักดิ์ – หาดสวนหลวง อ.บางสะพาน

ขนสัมภาระใส่ท้ายรถ Isuzu MU-X ประจำครอบครัว มุ่งหน้าสู่ประจวบคีรีขันธ์ เปิดหนังให้ลูกดูจบไปเรื่องนึง มองเห็นป้าย ‘อุทยานราชภักดิ์’ นึกได้ว่ายังไม่เคยไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ จากที่วิ่งอยู่บนเส้นเลี่ยงเมืองก็เลยเลี้ยวรถตัดเข้าไปสาย 4 ใหม่ ใครรู้บ้างว่าเขามีรถชมวิวพาวนรอบอุทยานวันละ 2 รอบโดยไม่คิดค่าบริการนะ

อุทยานราชภักดิ์1

อุทยานราชภักดิ์2

รถแทรมอุทยานราชภักดิ์

 

โอ้เอ้ไปมากว่าจะถึงบางสะพานก็เย็นแล้ว แนะนำให้เลือกที่พักแถวๆ หาดสวนหลวงหรือหาดสน เพราะว่าพรุ่งนี้เราจะไปทัวร์ดำน้ำกันตั้งแต่ 8 โมง ระยะทางจะได้ไม่ไกลกันมาก (ไม่ต้องตื่นเช้าว่างั้นเหอะ) ที่พักแนะนำในบริเวณนี้ได้แก่ Seanery Beach Resort,  The Theatre Villa , ไอทะเลรีสอร์ท และ Sunrise Resort เราเลือกนอนพักที่เดอะ เธียเตอร์ วิลล่าค่ะ เป็นที่พักติดหาดเลย หาดยาวทรายละเอียดน่าเล่นน้ำมาก แต่ห้องที่เราอยู่เป็นเรือนไทยอยู่ถัดเข้ามาด้านหลังอีกหน่อย ห้องกว้างขวางดี เพิ่มที่นอนเสริมได้สบายๆ อีกหลังสองหลัง เจ้าของรีสอร์ทน่ารักและอัธยาศัยดีจริงๆ ดูแลเองตั้งแต่มารับถึงประตูรถ พาส่งห้องพัก บริการอาหารเช้าแบบต้องขอให้หยุดเสิร์ฟ เพราะที่ยกมาเรื่อยๆ นี่ก็จะรับประทานไม่หมดอยู่แล้ว ส่วนมื้อเย็นไปฝากท้องได้ที่ร้านอาหารไอทะเล ของไอทะเลรีสอร์ตซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน (ไอทะเลรีสอร์ท ไม่ใช่ อุ่นไอทะเล นะคะ มี 2 ที่ในบางสะพานชื่อคล้ายกัน) ถ้าไม่มืดมากก็เดินเลียบหาดไปได้ แต่ถ้ามืดแล้วขับรถไปดีกว่า อาหารอร่อยไม่แพงค่ะ

หาดสวนหลวง
บรรยากาศหาดสวนหลวง

 

The Theatre บางสะพาน
The Theatre บางสะพาน

The Theatre3

 

The Theatre บางสะพาน
ในห้องพักแบบบ้านไทย ปูฟูกเพิ่มได้อีก 2 หลัง

 

วันที่ 2 : ทัวร์ดำน้ำเกาะทะลุ

เรือเกาะทะลุ1

เรือเกาะทะลุ2

เรือเกาะทะลุ7

เรือเกาะทะลุ3

เรือเกาะทะลุ4

เรือที่จะไปเกาะทะลุจะออกจากท่าที่บริเวณหาดสน หรือ หาดแหลมสน ต้องสอบถามบริษัททัวร์ดีๆ นะคะว่าท่าไหน เพราะมีหลายท่า สำหรับทัวร์ที่เราเลือกใช้บริการคือ talutrips มีจุดลงเรือที่หาดแหมสน พิกัด N11.087889 E99.491120 ราคาทัวร์ ผู้ใหญ่ 350-400 บาท เด็ก 200-250 บาท (อันนี้แล้วแต่เราจะต่อรองราคาได้และขึ้นอยู่กับว่าไปช่วงไฮหรือโลว์ ตัวหารเต็มลำหรือเปล่า ลองจองผ่านรีสอร์ทดูบางทีก็ได้ราคาดีเหมือนกัน) มีน้ำดื่ม ผลไม้ ข้าวกล่อง หน้ากากดำน้ำและเสื้อชูชีพครบ (มีเสื้อชูชีพไซส์เด็กอยู่ 3-4ตัว ย้ำให้เขาเตรียมให้ลูกเราด้วยนะคะ)
**ตอนจองทัวร์ อย่าลืมแจ้งเขาว่าขออาหารกล่องแบบไม่เผ็ดสำหรับเด็กนะคะ จะเป็นข้าวหมูทอดไข่เจียวก็ได้  แล้วพอขึ้นเรือปุ๊บก็แสดงตัวขอแยกข้าวกล่องเด็กที่ขอไว้ออกมาก่อนเลย ครอบครัวเราเจอมาแล้วคือเขาจัดข้าวกล่องเด็กไว้ให้ตามคำขอ แต่วางรวมไว้กับกะเพราของคนอื่นๆ ในกรุ๊ป พอถึงเวลาอาหาร บ้านอื่นคว้าของเราหมดเหลือไว้แต่ผัดเผ็ดกะเพราค่ะ …จ๋อยเลย

จอดรถไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ตรงท่าเรือได้เลย เรือออกจากท่าเวลา 8.30 น. นั่งไปสัก 25 นาทีก็ถึงเกาะทะลุ จอดเรือห่างๆ ถ่ายรูปให้เห็นช่องทะลุ แต่ขึ้นบนเกาะไม่ได้ เพราะเป็นเกาะสัมปทาน ต้องจองแพกเกจห้องพักกับเกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ทเท่านั้นถึงจะขึ้นเกาะได้ จากนั้นเรือจะพาไปจุดดำน้ำรอบๆ เกาะ ดูตามสภาพน้ำขึ้นและแรงลม จุดที่สวยที่สุดคือหาดกรวด แนวปะการังสมบูรณ์มากๆ Sea Anemone หรือดอกไม้ทะเลบ้านของนีโม่นั้น บางต้นใหญ่ขนาด 3 คนโอบเลยเชื่อไหมคะ แล้วหอยมือเสือก็เยอะมาก ช่วงที่เรามามีเรือจอดอยู่แล้ว 2-3 ลำ แต่นักท่องเที่ยวก็กระจายห่างกันเพราะแนวปะการังกว้าง ดีใจที่เห็นทุกคนพยายาลอยตัวเหนือน้ำโดยไม่ลงไปยืนเหยียบบนปะการัง แสดงว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนอย่างมากในการให้ข้อมูลความรู้เรื่องการช่วยกันอนุรักษ์

เราแวะอีก 2 จุดคือบริเวณหาดขาม พักรับประทานอาหารกลางวันครึ่งชั่วโมง ก่อนจะลงดำน้ำอีกครั้งที่บริเวณปลายแหลมของเกาะ สองจุดหลังนี้สีสันของปะการังน้อยกว่าหาดกรวด แต่ปลานกแก้วตัวโตๆ เยอะมาก 13.30 น.ก็เข้าถึงฝั่งแล้วค่ะ มีห้องอาบน้ำอยู่ตรงท่าเรือให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เด็กบ้านนี้ไม่เปลี่ยนค่ะ เพราะตั้งใจไปเล่นน้ำสระที่โรงแรมกันต่อ

 

 

ดำน้ำเกาะทะลุ1

ดำน้ำเกาะทะลุ2

ดำน้ำเกาะทะลุ3

ดำน้ำเกาะทะลุ4

ดำน้ำเกาะทะลุ5

ดำน้ำเกาะทะลุ6

เรือเกาะทะลุ 9

บ้านกรูด อาเคเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา

เราขับรถออกจากท่าเรือย้อนขึ้นเหนือไปทางหาดบ้านกรูด เพราะนอกจากชายหาดจะยาวววววมากแล้ว  ยังอยู่ใกล้อุทยานวัดทางสายบนยอดเขาธงชัย ที่พักแนะนำในบริเวณนี้มีให้เลือกเยอะ เราเลือกที่บ้านกรูด อาเคดีย รีสอร์ทแอนด์สปา ไม่ผิดหวังค่ะ ห้องพักกว้างขวางสะอาดดี นอนสบาย มีสระว่ายน้ำ 2 สระใหญ่ หาร้านอาหารง่าย อาหารเช้าอาจจะชืดไปหน่อย คือพนักงานไม่ค่อยดูแลเรื่องการอุ่นอาหาร การไล่มดแมลงตามโต๊ะ แต่โดยรวมถือเป็นโรงแรมที่เหมาะกับครอบครัว

บ้านกรูด

บ้านกรูดอาเคเดีย1

 

พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

บนยอดเขาธงชัยนี้มีสถานที่สำคัญ 2 แห่งคือ  ‘พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ’ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกการครองราชย์ครบรอบ50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช  ออกแบบโดยบรมครูสถาปัตยกรรมไทย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ และ ‘พระพุทธกิติศิริชัย’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

วันนั้นตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี เราก็เลยตั้งใจไปเวียนเทียนรอบพระมหาธาตุเจดีย์ด้วย ทุกๆ ปีทางวัดจะมีงานสวดและเทศนาธรรมภายในอุโบสถ ดอกไม้ธูปเทียนมีแจกอยู่หน้าทางเข้า (ทำบุญตามกำลัง) ไม่ต้องซื้อแพงๆ จากแม่ค้าข้างล่าง  กว่าจะได้เวลาเวียนเทียนก็โน่นค่ะ 2 ทุ่ม ฝนตกมาซู่ใหญ่เหมือนน้ำมนตร์แล้วก็หยุดกึกซะเฉยๆ ให้ทุกคนที่มาได้เวียนเทียนตามตั้งใจ

พระพุทธสิริกิติชัย
พระพุทธสิริกิติชัย

 

มหาธาตุเจดีย์
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

วันที่ 3 : ศูนย์เรียนรู้การร่อนทอง

คลองทองในอำเภอบางสะพานมีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา มีหนังสือจากพระจ้ากุยบุรีถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่าพบทองที่บางสะพาน และได้นำถวายพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาพระองค์ได้นำทองนั้นไปตีหุ้มมณฑปพระพุทธบาทที่สระบุรี ทุกวันนี้การร่อนทองในบางสะพานยังคงเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้ชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างถิ่น เพราะไม่มีการปิดกั้นสัมปทานแต่อย่างใด วันไหนใครนึกอยากมาเสี่ยงโชคก็ถืออุปกรณ์เดินดุ่ยๆ เข้ามาได้เลยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าเข้าให้ใครเพราะถือเป็นที่สาธารณะ

คลองทอง
คลองทอง

 

ศูนย์เรียนรู้การร่อนทอง
คุณตาเล็กแห่งศูนย์เรียนรู้การร่อนทอง

ผู้ปกครองจะพาเด็กๆ มาลองร่อนทองเองเลยก็ได้ แต่จะให้ดีกว่านั้น โทรศัพท์หาคุณลุงเล็ก – กฤษดา หมวดน้อย ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมตำบลร่อนทอง หมายเลขโทรศัพท์ 081-378-8258 เด็กๆ ขออนุญาตเรียกว่าคุณตาเล็กดีกว่า เพราะคุณพ่อคุณแม่เรียกคุณลุงไปแล้ว คุณตาเล็กดำเนินงานอนุรักษ์วิถีภูมิปัญญาการขุดร่อนทองคำบางสะพานมานับสิบปี ไม่ใช่แค่ยินดีเป็นวิทยากรนำชมและให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังสร้างลานวัฒนธรรม มีนิทรรศการเล็กๆ เป็นบอร์ดให้ความรู้ที่มาเกี่ยวกับการร่อนทอง จำลองบ่อขุดโบราณแบบใช้กว้านสำหรับนำดินขึ้นจากบ่อ น่าเสียดายที่เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ต้นปี 2560 นิทรรศการถูกน้ำพัดหายไปจนเกือบหมดแล้ว ในครั้งนั้น น้ำป่าที่พัดมาอย่างรุนแรงยังทำให้คลองทองที่เดิมกว้างเพียง 5 เมตร กลายเป็นคลองกว้าง 30 เมตรในชั่วข้ามคืน ผู้คนแห่กันมาทั่วสารทิศเพราะทราบข่าวว่าน้ำซัดเอาทองขึ้นมาด้วย ตาเล็กบอกว่าช่วงนั้นคนมาเสี่ยงโชคกันแต่ละวันนับพันคนเลยทีเดียว

นัดเจอกับคุณตาเล็กที่ท่ารถทัวร์ใกล้ๆ กับที่ทำการไปรษณีย์บางสะพาน คุณตาขึ้นรถมากับพวกเราแล้วนำทางให้เลี้ยวเข้าซอยทางไปวัดวังน้ำเขียว ไม่นานก็ถึงศูนย์เรียนรู้การร่อนทอง ซึ่งเป็นบ้านพักของคุณตาเล็กอีกคนหนึ่ง (เรียกกันว่าเล็ก2) ถ้าตาเล็ก 1 เป็นฝ่ายพีอาร์ ตาเล็ก2 ก็ถือเป็นฝ่ายเทคนิค คือดูแลเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ให้เช่า รวมถึงมีความชำนาญเรื่องการร่อนทองเป็นอย่างดี อุปกรณ์ที่ต้องใช้ไม่มีอะไรมากนอกจากเลียง, พลั่ว และถังใส่ดิน ทั้งชุดนี้ค่าเช่า 100 บาท ได้แล้วก็เดินตามตาเล็กไปร่อนทองกันเลย

รายละเอียดต่อจากนี้ไม่ต้องอธิบาย ให้ดูจากรูปและวิดีโอค่ะ คือจากแค่ข้อเท้าเปียกจะเริ่มลามไปถึงน่อง ตอนหลังขอนั่งยองๆ แช่น้ำเลยจะได้ถนัด รวยเละค่ะงานนี้ ได้มาตั้ง 50 บาท (ราคาขายนะไม่ใช่น้ำหนักทอง)

อุปกรณ์ร่อนทองที่สำคัญชนิดนี้เรียกว่า "เลียง" ค่ะ
อุปกรณ์ร่อนทองที่สำคัญชิ้นนี้เรียกว่า “เลียง” ค่ะ

 

ร่อนทอง2
เริ่มจากขุดดินใส่ถัง

 

ร่อนทอง3
ช่วยกันร่อนเอาหินใหญ่ออกก่อน

 

ร่อนทอง8
วักน้ำใส่เบาๆ เดี๋ยวทองปลิว

 

ร่อนทอง3
รอบแรกไม่เจออะไร ป้าช่วยเติมดินให้อีก

 

ร่อนทอง4
มาป้าจะสอนให้

 

ร่อนทอง6
นี่ที่ป้าร่อนได้นะ ไม่ใช่ของพวกเรา

 

ร่อนทอง7
ย้ายมุมไปแถวๆ ชาวบ้านที่เขากำลังร่อนกันอยู่ สังเกตเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่วางอยู่ข้างๆ ไหมคะ ใช้ตะแกรงหน้าของพัดลมช่วยกรองหินหยาบออกก่อน

 

ร่อนทอง10
นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ยืมของป้าที่ให้เช่าเลียงมาถ่ายรูป

 

ร่อนทอง9
เย้ๆ เรารวยแล้ว นี่ของพวกเราเอง

 

ร่อนทอง11
ตาเล็กอธิบายว่าหลุมขุดทองโบราณใช้กว้านขุดดิน

 

ร่อนทอง11
ลานวัฒนธรรม ยังพอมีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เหลืออยู่บ้าง

 

ศูนย์เรียนรู้การร่อนทอง
อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์
พิกัด N11.295747, E99.421930
คุณลุงเล็ก – กฤษดา หมวดน้อย ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมตำบลร่อนทอง
โทร. 081-378-8258

Leave a Reply