พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ขุดค้นหาแกนกำไลที่เมืองโบราณ

พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ขุดค้นหาแกนกำไลที่เมืองโบราณ

พ.ศ. 2513 ฝูงตั๊กแตนปาทังก้าบินเข้าโจมตีไร่ข้าวโพดในพื้นที่ซับจำปา จำนวนอันมหาศาลบดบังแสงตะวันบนฟ้า ใบข้าวโพดใบเดียวมีตั๊กแตนรุมกินเป็นร้อยตัว มันกินทุกอย่างแม้กระทั่งกางเกงยีนส์ ทางการจึงส่งเครื่องบินมาพ่นยากำจัดแมลง จากมุมสูงนั้นเอง นักบินสังเกตเห็นคูน้ำคันดินเกือบเป็นวงกลมขนาดใหญ่ 2 วง ตามลักษณะของเมืองโบราณ การขุดค้นสำรวจและศึกษาประวัติความเป็นมาของ ‘ซับจำปา’ จึงเริ่มต้นขึ้นในตอนนั้น

นี่คือข้อมูลจากห้องนิทรรศการห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ซับจำปา เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ใช้เรือนเพาะชำเล็กๆ หลังหนึ่งเป็นที่เก็บสะสมหลักฐานทางโบราณคดี ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาเข้ามาดำเนินการพัฒนาและปรับปรุง โดยความร่วมมือของมิวเซียมสยาม กลายเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 นี้เอง

จากหลักฐานที่ค้นพบ เมืองโบราณซับจำปาเริ่มมีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเมื่อ 3,000-3,300 ปีซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนา วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนค้าขาย ดังที่พบธรรมจักรและกวางหมอบ เสาหินแปดเหลี่ยมจารึกคาถาทางพุทธศาสนา ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ แวดินเผาสำหรับปั่นด้าย ขวานหิน และแกนกำไลมากมายในพื้นที่ แน่นอนว่าการออกแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อดึงดูดความสนใจเด็กต้องมีกิจกรรมแบบ hands on คือเรียนรู้จากการลงมือทำด้วย เด็กๆ จึงสนุกกับการผลิตตุ้มหูและจี้ห้อยคอจากแม่พิมพ์จำลอง รวมถึงเรียนรู้ภาษาโบราณด้วยการฝนอักษรปัลลวะลงบนกระดาษไข

บริเวณเมืองโบราณนี้มีลักษณะเป็นป่าพุน้ำจืด คือผืนป่าที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนและมีน้ำพุไหลผ่าน ปรากฏว่ามีการสำรวจพบต้นจำปีสายพันธุ์ใหม่เป็นครั้งแรก เป็นจำปีชนิดเดียวของโลกที่ขึ้นได้ในสภาพป่าพุน้ำจืด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยว่า ‘จำปีสิรินธร’ หลังจากอ่านข้อมูลในห้องนิทรรศการแล้ว อาจพาเด็กๆ เดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าพุจำปีสิรินธรซึ่งอยู่ใกล้ๆ พิพิธภัณฑ์ ระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตรเท่านั้น

ที่นี่น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก ที่ให้ผู้ชมออกภาคสนามไปช่วยกันหาวัตถุโบราณในไร่ข้าวโพด เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งหัตถกรรมผลิตเครื่องประดับประเภทกำไลข้อมือ ลูกปัดและต่างหู ทำจากหินมาร์ลสีขาว หินอ่อนสีขาว และเปลือกหอยมือเสือ การทำกำไลนั้นจะต้องคว้านแกนตรงกลางออกเพื่อให้เกิดรูสำหรับคล้องใส่ข้อมือ แกนที่ไม่ใช้แล้วทับถมกันอยู่ตามพื้นดินจำนวนมากมายจนไม่ต้องขุด แค่เขี่ยๆ และอาศัยตาดีก็มองเห็นได้ตามโคนต้นข้าวโพด

อาจจะมุดเข้าไปตามแถวข้าวโพดไม่ได้เพราะค่อนข้างรก แต่เด็กๆ ก็สนุกกับการคุ้ยทางนั้นทีทางนี้ที เจอเศษภาชนะดินเผาชิ้นหนึ่งก็วิ่งเอามาถามพี่เจ้าหน้าที่ว่ามันคืออะไร นับว่าเป็นการปลูกฝังวิชาโบราณคดีขั้นต้นให้เด็กๆ เรียนรู้ ในที่สุดคนเจอแกนกำไลไม่ใช่ใครที่ไหน เจ้าตัวเล็กอายุน้อยที่สุดของเรานี่เอง

ขุดอะไรได้ก็ส่งให้พี่เขาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์นะคะ เห็นเขาบอกว่าชาวบ้านเอาไปก็ต้องเอากลับมาคืนหลายรายแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

ที่ตั้ง

พิพิธภัณฑ์ซับจำปา
ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง ลพบุรี
พิกัด N15.045219 E101.236953
โทรศัพท์ 09-8105-7664
เปิดบริการทุกวัน 8.30-16.30 น.