Space Inspirium ท่องอวกาศที่อ.ศรีราชา

Space Inspirium ท่องอวกาศที่อ.ศรีราชา

ตราบใดที่เรายังคงตั้งคำถามและจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาล ตราบนั้นจะเกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อค้นหาคำตอบ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (GISTDA) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีราชา ได้ออกแบบนิทรรศการถาวรเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามออกเดินทางไปในห้วงอวกาศ

Space Inspirium

โซนที่ 1 กำเนิดเอกภพ ว่าด้วยเรื่องของแรงดึงดูดซึ่งทำให้เราไม่หลุดลอยออกนอกโลกไป

Space Inspirium

โซนที่ 2 เทคโนโลยีสำรวจอวกาศ แสดงเรื่องราวตามเส้นเวลา มนุษย์มีความสนใจเรื่องดาราศาสตร์มาตั้งแต่ 27,000 -34,000 ปีก่อน แต่ละยุคต่างเสาะแสวงหาและค้นพบทฤษฎีเกี่ยวกับดาราศาสตร์มากมาย เกิดทฤษฎีใหม่ลบล้างทฤษฎีเก่า จากความเชื่อว่าโลกแบนก็กลายเป็นโลกกลม โลกเคยเป็นศูนย์กลางจักรวาลก็กลายเป็นว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เสียนี่ กระทั่งล่าสุดพลูโตซึ่งเคยเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ก็ถูกปลดลงจากตำแหน่ง ระบบสุริยจักรวาลมีดาวเคราะห์แค่ 8 ดวงเท่านั้นจ้า

Space Inspirium

Space Inspirium

นั่น… เดินดูยังไม่ทันไร ก็มีเกมอินเตอร์แอคทีฟมาดึงดูดความสนใจ ให้เด็กๆ ได้เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจกดปุ่ม Release หรือ Eject เพื่อส่งดาวเทียมไทยโชต ยานอพอลโล 11 หรือยานที่จะเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติ บางคนขอมั่ง ขอมั่ง เมื่อไหร่จะถึงตาผมสักที หันไปเห็นเครื่องเล่นด้านหลัง ไม่กดปุ่มก็ได้ไปลองเล่นอันนี้ดีกว่า

Space Inspirium

Space Inspirium

โซนที่ 3 มุ่งสู่อวกาศ มีพระเอกเป็นเครื่อง Cosmosphere Gyroscope จำลองสภาพต้านแรงโน้มถ่วงของนักบินอวกาศ นั่นหมายถึงผู้นั่งในเครื่องจะหมุนรอบทิศทาง 360 องศา โดยไม่หล่นลงมากองกับพื้น เครื่องนี้ก็เลยต้องจำกัดส่วนสูงน้องๆ ไว้ไม่ต่ำกว่า 130 เซนติเมตร

Space Inspirium

Space Inspirium

โซนที่ 4 สถานีอวกาศ กันต่อ ใครเคยสงสัยบ้างว่านักบินอวกาศเขารับประทานอาหาร ดื่มน้ำ อาบน้ำ สระผม หรือขับถ่ายอย่างไรในสภาพไร้น้ำหนัก ต้องไล่งับหยดน้ำที่ลอยหนีไปหรือเปล่า มีวิดีโอให้ชมกันสนุก

Space Inspirium

โซนที่ 5 โรงภาพยนตร์ 3 มิติ แจกแว่นตาแล้วรอรอบฉายได้เลย คอยหลบอุกาบาตที่พุ่งใส่ให้ทันก็แล้วกันค่ะ

Space Inspirium

โซนที่ 6 ดาวเทียม แนะนำให้เด็กๆ รู้จักกับไทยโชต ไม่ใช่ชื่อคนนะคะ แต่เป็นดาวเทียมของไทยที่ส่งไปโคจรในอวกาศ ไทยโชตเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ภาพถ่ายที่ไทยโชตส่งลงมาช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติได้ทันท่วงที อย่างเช่นเวลาเกิดไฟป่า เจ้าหน้าที่จะเห็นภาพมุมสูงบอกว่าหมอกควันปกคลุมไปทางไหน หรือเวลาน้ำท่วม ภาพถ่ายของไทยโชตก็จะเปรียบเทียบให้เห็นว่าเส้นทางน้ำไหลจากไหนและกำลังจะไปไหนต่อ ไทยโชตขึ้นไปทำงานในอวกาศตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ใกล้จะได้เวลากลับบ้านแล้วเพราะอายุงานจริงๆ ประมาณ 5 ปีเท่านั้น ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมนั้น ตั้งอยู่ห่างจากอาคารแสดงนิทรรศการไปไม่กี่เมตรนั่นเอง

Space Inspirium

จบจากชั้นบนเดินลงต่อชั้นล่าง อีก 7 โซนที่เหลืออาจจะซับซ้อนเกินความเข้าใจเด็กระดับประถมวัย เพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ระบบดาวเทียมนำร่อง และ Geo informatics Application แต่ผู้จัดนิทรรศการกลับพลิกเป็นโอกาส ด้วยการแปลงข้อมูลยากๆ กลายเป็นเกมสนุก เช่น ให้เลือกเส้นทางที่จะขับรถดับเพลิงหรือรถกู้ภัยไปจุดเกิดเหตุ โดยตัดสินใจจากแผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นระยะทางและเส้นทางที่การจราจรติดขัด หรือเกมทำการเกษตรคล้ายกับฟาร์มวิลล์ ซึ่งเด็กๆ จะต้องเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศจึงจะเก็บเกี่ยวไปขายได้ เมื่อเดินออกจากห้องแล้วก็ได้ข้อสรุปคือ ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างนั่นเอง

Space Inspirium

Space Inspirium เปิดให้เข้าชมฟรีถึง 9 เมษายน หลังจากนั้นก็ยังเข้าชมได้แต่มีค่าบัตรผ่านประตู บอกได้เลยว่าคุ้มค่าที่ขับมาเที่ยวถึงศรีราชา

ที่ตั้ง

อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ GISTDA
88 หมู่ 9 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา ชลบุรี
จากถ.สุขุมวิทเข้าทางแหลมฉบังแล้วกลับรถ เข้าซอยก่อนถึงขนส่งศรีราชา
พิกัด N13.102492 E100.930113
โทรศัพท์ 08-1915-2374
เวลาทำการ ทุกวัน 9.00 – 15.00 น.
www.gistda.or.th