เที่ยวสุโขทัย ทัวร์รถคอกหมู ดูวิถีไทยในกงไกรลาศ

เที่ยวสุโขทัย ทัวร์รถคอกหมู ดูวิถีไทยในกงไกรลาศ

วิถีแห่งบ้านกง
“ทองม้วนชวนชิม อร่อยลิ้นขนมผิง ปลาร้าเด็ดจริง ยอดยิ่งน้ำปลาดี”
อำเภออะไรนี่ แค่ฟังคำขวัญก็น้ำลายสอ ยิ่งถ้าบอกว่ามาเที่ยวแล้วจะได้ดูวิธีการทำขนม แถมได้ชิมไม่อั้นด้วยแล้ว เด็กที่ไหนก็ต้องอยากมา

เที่ยวสุโขทัย

อำเภอกงไกรลาศเป็นชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างเส้นทางจากตัวเมืองสุโขทัยไปเมืองพิษณุโลก มีนายอำเภอคนแรกชื่อพระยากงไกรลาศ ที่ว่าการอำเภอหลังแรกตั้งอยู่บนเกาะกงซึ่งมีน้ำล้อม บ้านกงนี้เดิมเป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าจากกรุงเทพ ชาวบ้านอาศัยอยู่ในแพและมีอาชีพทำประมงริมแม่น้ำยม ปลาที่จับได้เหลือจากขายและบริโภคแล้วก็ยังนำไปแปรรูปด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำเป็นน้ำปลาและปลาร้าเก็บไว้กินได้นาน

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

ทัวร์รถคอกหมู
รถบรรทุกโครงไม้ตีที่นั่งสองแถวหน้าตาโบราณวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากอำเภอหนึ่งไปอีกอำเภอหนึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสุโขทัย ชาวบ้านเรียกกันว่ารถคอกหมู ปัจจุบันรถคอกหมูสีฟ้าวิ่งรับส่งเส้นสุโขทัย ส่วนคันสีเขียววิ่งไปพิษณุโลก ค่ารถคนละ 20 บาท แต่วันนี้เราจะเหมารถคอกหมูพาเที่ยวกงไกรลาศ ก็นั่งรถติดแอร์ปิดหน้าต่างจะไปได้บรรยากาศอะไรกัน
ราว 40 ปีก่อน แม่สงวน เหลืองสุวรรณ ได้ริเริ่มทำทองม้วนเป็นเจ้าแรกในตำบลกง ต่อมาในพ.ศ. 2523 นายอาษา เมฆสวรรค์ (รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในพ.ศ.2525) ได้นำทองม้วนแม่สงวนขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทุกวันนี้ร้านลูกแม่สงวนก็ยังทำทองม้วนทองพับอยู่ หากต้องไปช่วงเช้าหน่อยถึงจะได้ดูการทำ

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

ขนมผิง

ลึกเข้ามาอีกหน่อยกลิ่นขนมผิงโชยมาแตะจมูกหอมอบอวล ทำให้รู้ว่าถึงโรงงานขนมผิงมาลีแล้ว หยุดรถลงไปดูป้ามาลีกวักมือให้เข้ามาดูเครื่องจักรกำลังผลิตขนมทองม้วนออกจากสายพาน ตามสูตรเดิมทองม้วนต้องใช้แป้งมันเป็นส่วนผสม แต่เพื่อให้ใช้งานกับเครื่องได้จึงเปลี่ยนเป็นแป้งหมี่ ในแต่ละวันเครื่องนี้ผลิตทองม้วนบรรจุกล่องละ 2.5 กิโลกรัมได้ 70-80 กล่อง บางรอบก็เพิ่มสีสันและรสชาติผลไม้อย่างกล้วย สตรอเบอรี่ องุ่น ใบเตย ให้อร่อยยิ่งขึ้น ป้ายิ้มไม่ว่าอะไรตอนพวกเราเอามือรองขนมจากสายพานก่อนจะหล่นใส่ถุง ก็ทั้งกรอบทั้งมันใครจะอดใจไหว
ส่วนอีกห้องหนึ่งมี นักจิ้มนั่งทำงานอยู่ราวสิบคน เมื่อเครื่องผสมแป้งจนเข้ากันและบีบออกมาเป็นเส้นยาวคล้ายเวลาเราปั้นงูตอนเล่นดินน้ำมันแล้ว นักจิ้มจะทำหน้าที่ตัดแป้งเส้นยาวเหล่านั้นออกเป็นเม็ดเล็ก เรียกว่าการจิ้ม เมื่อเรียงเม็ดขนมเต็มหนึ่งถาดก็จะได้ไม้ติ้วหนึ่งอันเป็นเครื่องนับจำนวน พอหมดวันจึงมานับติ้วดูว่าจิ้มได้กี่ถาดก็รับค่าแรงถาดละ 1.50 บาท ดังนั้นแต่ละวันนักจิ้มจึงต้องทำขนมให้ได้มากกว่า 200 ถาดจึงจะพอเป็นค่าแรง ห้องที่นั่งทำงานค่อนข้างร้อนเพราะนอกจากจะปล่อยให้ลมพัดโดนแป้งมากไม่ได้แล้ว ยังมีเตาอบขนมที่อบได้คราวละ 32 ถาดทุก 8 นาที ป้านักจิ้มใจดีกันทุกคนชวนเด็กๆ มาลองเป็นนักจิ้มบ้าง กว่าจะได้ถาดหนึ่ง ป้านำไปสี่แล้ว

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

จากระบบการผลิตขนมผิงแบบโรงงาน เราย้ายมาดูฐานการผลิตแบบโบราณบ้าง บ้านป้าติ๋มได้ชื่อว่าขนมผิงแง้มประตู เพราะกรรมวิธีการผลิตด้วยมือทุกขั้นตอนแบบเดิมๆ ทั้งคั้นกะทิ นวดแป้ง ไปจนก่อเตาถ่าน ทำให้อบขนมได้เพียงวันละ 25 ถาด เมื่อคนซื้อมากจนไม่พอขายจึงต้องแง้มประตูไว้เพียงนิดๆ ให้ชะเง้อแลถามไถ่เอาเองว่าวันนี้ยังมีขนมเหลือไหม เปรียบเทียบรสชาติกันระหว่างขนมผิงโรงงานกับขนมผิงทำมือ ต่างมีดีคนละแบบ ขนมผิงเครื่องจักรนวดแป้งได้ฟูกว่า จึงกรอบโปร่งเคี้ยวง่ายละลายในปาก ส่วนขนมผิงป้าติ๋มจะมีกลิ่นหอมของถ่านไม้อวลอยู่จางๆ ผนวกกับรสกะทิเข้มข้น กรอบแข็งๆ มันๆ เคี้ยวแล้วยั้งไม่ค่อยได้

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

โรงงานน้ำปลาน้านวล
จากกลิ่นขนมหอมๆ คราวนี้จมูกย่นเล็กน้อยเพราะเป็นกลิ่นฉุนเค็มๆ น้านวลสืบทอดสูตรและขั้นตอนการหมักน้ำปลาจากครอบครัวของสามี ถือว่าเป็นสูตรพิเศษไม่เหมือนน้ำปลาทั่วไปเพราะผลิตจากปลาน้ำจืด เหมาะสำหรับคนแพ้อาหารทะเล หลังจากหมักปลาสร้อยกับเกลือในบ่อหมักเป็นเวลานานถึง 1 ปีแล้ว ก็ต้องนำน้ำที่ได้มาต้มบนเตาฟืน กรองแล้วทิ้งให้ตกตะกอนราว 2 สัปดาห์ ปลา 15 กิโลกรัมทำเป็นน้ำปลาได้เพียง 5 กิโลกรัมเท่านั้น นอกจากน้ำปลาแล้ว ยังมีปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริม น้านวลบอกว่า ปลาร้าบ้านกงหมักด้วยข้าวสารกลิ่นจึงไม่แรงเหมือนปลาร้าทางอีสาน อันนี้ก็ต้องไปลองชิมกันเองนะคะ ไม่ว่าจะเดินทางมาตอนไหน น้านวลจะมีถังหมักน้ำปลาสาธิตไว้คอยเปิดให้ดูเสมอ เพราะที่นี่คือโรงเรียนแห่งวิถีชีวิตที่มีนักเรียนขอเข้ามาเรียนรู้การทำน้ำปลาอยู่ตลอดปี ต่อไปนี้ทุกคราวที่ปรุงก๋วยเตี๋ยวหรือเหยาะน้ำปลาพริกขี้หนูลงในอาหาร เด็กๆ จะรู้แล้วว่าน้ำปลามาจากไหน

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

ตลาดปลาน้ำจืด
รถคอกหมูวิ่งปุเลงมาจนเกือบสุดถนน กลิ่นคาวๆ โชยมาแตะจมูก ตรงนี้มีตลาดปลาขนาดใหญ่ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดจะมาซื้อไปขายต่อในตลาดหรือร้านอาหาร ช่วงเวลาดีที่จะได้เห็นการลงปลาซื้อขายกันจำนวนมากๆ อยู่ราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก โชคดีวันนี้เขาตักปลาจากบ่อเลี้ยงขึ้นมาพอดี เราจึงได้เห็นการคัดแยกปลาทั้งปลาตะเพียน ปลานิล ปลาแขยง ปลากด ปลาชะโอน ปลาหมอ และปลากรายตัวโต สมกับที่ให้คำจำกัดความเมืองสุโขทัยว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทุกเย็นวันเสาร์แรกของเดือน บริเวณหน้าตลาดปลายาวขึ้นไปร่วมกิโลเมตรจะเป็นสถานที่จัดงานย้อนยุค ตลาดริมยม 2437 ทั้งคนขายและคนซื้อต่างแต่งตัวย้อนยุคกัน ขายอาหารหลากหลายใส่กระทงใบตอง หม้อดินหรือกะลา อย่างเช่น ขนมจีน ขนมกง ทอดมัน บัวลอย รวมถึงมีการแสดงพื้นบ้านจากเยาวชนอาสาให้ชมเพลินๆ ด้วย

เที่ยวสุโขทัย

เที่ยวสุโขทัย

วิหารลอย หลวงพ่อโต
ก่อนจะจบคอกหมูทัวร์ เราแวะนมัสการหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารแห่งนี้เดิมเป็นวิหารไม้ สมัยพม่ายกทัพจะไปตีพิษณุโลกเมื่อผ่านวัดนี้ก็ยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารด้วยความคะนอง แต่หลวงพ่อไม่เป็นอะไรเลยนอกจากมีรอยกระสุนให้เห็นจนทุกวันนี้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าวิหารนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก เพราะคราวใดที่แม่น้ำยมเอ่อล้นท่วมกุฏิและศาลาในบริเวณวัด วิหารหลวงพ่อจะดูเหมือนลอยพ้นน้ำและไม่เคยท่วมเลย

แม้แต่แม่น้ำยังเปลี่ยนเส้นทางเดิน ทุกชุมชนย่อมเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปตามกาลเวลา ชาวกงไกรลาศเป็นอีกชุมชนหนึ่งซึ่งยังมีอาชีพและความเป็นอยู่เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน ทั้งยังยินดีหากเด็กรุ่นใหม่อยากเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ต้องขอขอบคุณครูเจี๊ยบ มัคคุเทศก์ผู้นำชมตลอดเส้นทาง รวมถึงคุณป้าใจดีทุกท่านที่เปิดประตูบ้านให้เข้าชม

ติดต่อ

ทัวร์รถคอกหมู
ติดต่อครูเจี๊ยบ ร้านเพ็ญจันทร์ของฝาก
ใกล้ธนาคารกรุงไทย ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจกงไกรลาศ
โทรศัพท์ 0-5562-5299
ค่าบริการนำเที่ยว (เหมาทั้งคัน) 400 บาท ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง
เทศบาลตำบลกงไกรลาศ โทรศัพท์ 0-5691-158