เคล็ด(ไม่)ลับกับบันทึกธรรมชาติ ตอนที่ 2: จดบันทึกธรรมชาติ
เวิร์คชอปฉบับที่แล้ว เราได้เรียนรู้วิธีการทำสมุดบันทึกทำมือ ครั้งนี้เราจะเริ่มจดบันทึกกัน การจดบันทึกในแบบฉบับของครูกุ้ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีไม้ ย่อมไม่ใช่การบันทึกอย่างธรรมดาแน่ๆ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะกับการบันทึก แม่อ๋ำขอใช้คำว่า ‘การวาดแล้วบันทึก’ น่าจะตรงกว่า
การบันทึกเป็นภาพมีข้อดีที่เห็นได้ชัดๆ คือ ต้องอาศัยการสังเกตอย่างละเอียด เช่น หากเราจะบันทึกภาพของนกตัวหนึ่ง ต้องเก็บรายละเอียดตั้งแต่รูปทรง ลายหยัก สีของขน นกบางตัวมีสีที่คอ หรือขอบตาเป็นเส้นเล็กๆ ซ่อนอยู่ จะเห็นต่อเมื่อหันด้านข้างเท่านั้น ดังนั้นการจดบันทึกธรรมชาติจึงเป็นการฝึกการสังเกต ฝึกความอดทน (วาดเสร็จแล้วยังต้องลงสีอีก) และเป็นการฝึกความไวด้วย เพราะสัตว์บางชนิดไม่อยู่นิ่งๆ ให้เราวาดจนเสร็จ
เพื่อเป็นการฝึกให้คุ้นชินกับการจดบันทึกธรรมชาติ ครูกุ้งจึงชวนเราหัดวาดรูปเหมือน (Portrait) กันก่อน เริ่มจากการวาดหน้าของเพื่อนที่นั่งข้างๆ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Blind Contour’ เป็นการวาดโดยไม่มองกระดาษและมือ รวมทั้งห้ามยกหัวดินสอขณะวาด เพื่อให้ระบบความคิดของเราขณะนั้นเกิดการลื่นไหลต่อเนื่องกันไป ภาพที่ได้อาจจะดูไม่ค่อยสมบูรณ์หรือสวยงาม แต่ก็ช่วยให้เราไม่เกร็งในการวาดต่อ เด็กๆ ผลัดกันดูภาพที่เพื่อนๆ วาดหน้าเราแล้วก็หัวเราะขำกัน หลังจากหัดวาดหน้าคนไปแล้ว ก็ต่อด้วยการหัดวาดใบไม้ ซึ่งจะง่ายสำหรับเด็กๆ มากกว่า
จากนั้นครูกุ้งก็สอนเด็กๆ วาดรูปนก โดยให้สังเกตรูปทรงของนกแต่ละส่วน ส่วนหัวกับตัวของนกที่ดูเหมือนกับไข่สองใบวางซ้อนกัน แล้วลากเส้นเชื่อมเป็นตัว จากนั้นก็วาดหางที่ยาวออกมาและปาก ซึ่งปากของนกก็มีลักษณะพิเศษที่ยืดยาวออกไปด้านใต้แก้ม แล้วก็มาถึงตานกที่เป็นตัวแสดงออกถึงความรู้สึกของนก ช่วงนี้จะเหมือนเทคนิคการวาดการ์ตูน ครูกุ้งแนะว่าการวาดรูปสัตว์ของเด็กๆ บางทีอาจไม่ต้องเหมือนของผู้ใหญ่ที่เน้นเรื่องความเหมือนเป็นหลัก จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการลงสี เป็นอันจบการวาดนกคร่าวๆ ทำให้การวาดภาพไม่ยากอย่างที่คิด แถมยังสนุกด้วย
ครูกุ้งชวนเด็กๆ แบ่งออกเป็นกลุ่ม แล้วเดินวนไปตามจุดที่มีใบไม้ ผลของต้นไม้แปลกๆ อย่างมะเกลือ ลูกตะแบก แก้วตาไว ฝาง เป็นต้น โดยจะจับเวลาจุดละ 5 นาที เด็กๆ ต้องวาดให้ได้ตามเวลา เน้นว่าความสวยไม่จำเป็นค่ะ สามารถพัฒนากันได้ในภายหลัง หรืออาจมาเติมรายละเอียดให้สวยงามได้ทีหลัง
ต่อไปคือ เทคนิคการจดบันทึกเป็นตัวหนังสือเพื่อขยายความภาพวาด ครูปรีชาให้เริ่มจากการจดวัน เวลา สถานที่ที่เราเจอสัตว์หรือสิ่งที่เราได้บันทึกไว้ สภาพอากาศในวันนั้นซึ่งมีส่วนสำคัญต่อธรรมชาติที่พบเห็น จากนั้นให้อธิบายอย่างละเอียดประหนึ่งว่าเรารู้จักมันเป็นครั้งแรก รวมถึงใส่ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นไว้ด้วย เช่น พบลูกยางที่น่ารักเพราะมีลักษณะคล้ายหัวใจติดปีก หากเด็กๆ เจอใบไม้ แมลง หรือนกที่ไม่รู้จัก ก็ไปค้นหาข้อมูลมาเขียนเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน เกิดกระบวนการเรียนรู้และคิดแก้ไขปัญหา
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความรู้สึกผูกพันและปลูกจิตสำนึกให้รักธรรมชาติที่คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้ที่บ้านได้ค่ะ
ขอขอบคุณมูลนิธิโลกสีเขียว
www.greenworld.or.th
www.facebook.com/goodNoteByGung
You must be logged in to post a comment.